โรคทางตา | ORBIT

 

โรคทางตา : ปัญหาที่พบบ่อย

ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถมองเห็น รับรู้โลก รู้สึกถึงความสวยงาม และประกอบกิจวัตรประจำวันได้ โรคทางตาเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม บทความนี้จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับโรคทางตาที่พบบ่อย พร้อมวิธีดูแลรักษาและป้องกัน

 
โรคทางตาที่พบบ่อย
|
 
  สายตาสั้น (Myopia)
ภาวะสายตาสั้น หรือ Myopia มาจากคำว่า Myein ที่หมายถึงการหรี่หรือปิด และ Ops ที่หมายถึงตา ซึ่งคืออาการหรี่ตาที่เป็นอาการแสดงหนึ่งในคนที่มีภาวะสายตาสั้น ภาวะสายตาสั้นในทางคลินิกหมายถึง แสงขนานจากวัตถุระยะไกล (ไกลถึงระยะอนันต์ แต่ในทางคลินิกเราจะให้ที่ระยะตั้งแต่ 6 เมตร) เมื่อเดินทางผ่านเข้าภายในดวงตาแล้ว จุดรวมแสงที่เกิดขึ้นนั้นจะตกอยู่ก่อนถึงจุดรับภาพชัดที่จอตา ทำให้การสร้างภาพที่สมองส่วนของการมองเห็น ซึ่งอยู่ที่บริเวณท้ายทอยได้ภาพที่ไม่คมชัดนั้นเอง ส่วนการมองใกล้ในคนสายตาสั้นจะมองเห็นได้ชัดตามปกติ
 
สาเหตุของสายตาสั้น หรือ MYOPIA
สายตาสั้น (Myopia) คือความผิดปกติในการมองเห็นที่พบได้บ่อย ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลได้ชัดเจน แต่หากเป็นวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ จะเห็นได้ชัด ซึ่งสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของรูปร่างของลูกตาหรือเลนส์ตา โดยกระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติ ทำให้ได้รับแสงที่หักเหมากเกินไป นอกจากนี้ ยังเกิดจากความยาวของลูกตาที่ผิดปกติ หรือลูกตามีขนาดใหญ่กว่าปกติ ส่งผลให้จุดรวมแสงตกกระทบอยู่ที่ด้านหน้าเรตินา จึงทำให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ในระยะไกลได้ไม่ชัดเจนนัก โดยมีสาเหตุสำคัญ ได้แก่

  สาเหตุจากพันธุกรรม โดยมักพบในครอบครัวที่มีประวัติคนสายตาสั้น ซึ่งพันธุกรรมจะส่งผลต่อลักษณะของกระจกตาและลูกตา ทำให้กระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติ หรือลูกตายาวผิดปกติ ส่งผลให้มีแนวโน้มในการเกิดปัญหาสายตาสั้นได้
  สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมจนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสายตาสั้นได้ เช่น การใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างน้อย หรือการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน
 
การแบ่งระดับความรุนแรงของภาวะสายตาสั้นได้ดังนี้
-    น้อยมาก Up to -1.00 D.
-    น้อย -1.00 D to -3.00 D.
-    ปานกลาง -3.00 D to -6.00 D.
-    สูง -6.00 to -10.00 D.
-    สูงมาก มากกว่า -10.00 D.
 
อาการและอาการแสดง
1.    คนที่มีภาวะสายตาสั้นอาจพบอาการเหล่านี้ นอกจากอาการมองไกลที่ไม่ชัดซึ่งเป็นอาการหลัก
-    มีอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อรอบดวงตาที่เกิดจากการหรี่ตา
-    มีอาการเมื่อยบริเวณต้นคอ หรือด้านหลังท้ายทอยที่เป็นที่อยู่ของศูนย์รวมภาพ (Visual cortex)
-    การมองเห็นแย่ลงมากโดยเฉพาะตอนเย็นหรือที่ๆ มีแสงน้อย
-    ในคนที่มีสายตาสั้นมากจะสังเกตพบจุดดำคล้ายหยากไย่ หรือยุงลอยไปมาภายในตา ที่เกิดจากการเสื่อมของวุ้นตา (Vitreous humor) มากกว่าคนปกติ
-    มีขนาดภาพที่จอตาใหญ่กว่าคนปกติจากความยาวของกระบอกตาและความไม่คมชัดของภาพ ดังนั้นเมื่อใส่แว่นสายตาแก้ไขจะรู้สึกว่าวัตถุรอบตัวเล็กลง

2.    เราอาจพบเห็นอาการแสดงเหล่านี้ของคนที่มีภาวะสายตาสั้นได้
-    ชอบมองวัตถุระยะใกล้กว่าปกติ เช่น ดูทีวี หรือ มองกระดาน
-    ชอบหรี่ตาเพื่อลดขนาดแสงที่เข้าตาทำให้ความเบลอของภาพลดลง (Spherical aberration)
-    มีรูม่านตาที่ขยายใหญ่เพื่อเพิ่มปริมาณแสงเข้าสู่ดวงตา
-    ชอบที่ๆ มีแสงสว่างมากกว่าปกติ เพื่อเพิ่ม Contrast ให้วัตถุ
-    อาจพบอาการตาโปน (Exophthalmic or Protruding) ในคนที่มีสายตาสั้นสูงมาก 
-    ในคนที่สายตาสั้นสูงมากที่จอตาใกล้จุดรับภาพชัดอาจพบลักษณะที่เรียกว่า myopic cresce
 
  สายตายาว (Hyperopia)
สายตายาว (Hyperopia) คือ ปัญหาความบกพร่องทางสายตา ที่ไม่สามารถมองเห็นภาพในระยะใกล้ได้ชัดเจน แต่กลับมองเห็นภาพในระยะไกลๆได้ชัดเจนปกติ หรือแม้กระทั่งบางรายอาจมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน ทั้งในระยะใกล้ๆหรือระยะไกลก็ตาม  โดยในทางการแพทย์ ปัญหาสายตายาว มักจะเป็นชื่อเรียกสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตายาว ตั้งแต่ช่วงอายุที่ยังไม่ถึงวัยผู้สูงอายุ ส่วนผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเรียกว่าเป็นสายตายาวตามอายุ (Presbyopia) แต่ถ้าหากผู้ที่เป็นตั้งแต่เด็กๆ หรือแรกเกิด จะเรียกว่า สายตายาวโดยกำเนิด (Farsightedness)
 
สาเหตุของสายตายาว หรือ HYPEROPIA?
สายตายาว เกิดจากการที่กระจกตามีความโค้งน้อยจนเกินไป หรือกระบอกตามีขนาดสั้นจนเกินไป ทำให้เมื่อแสงเข้าสู่ดวงตา การหักเหของแสงจึงน้อยลง ส่งผลให้จุดรวมแสงตกกระทบที่ด้านหลังจอประสาทตา เหมือนดั่งรูปด้านขวา (Hyperopia) วัตถุในระยะใกล้จึงมองเห็นเบลอกว่าวัตถุระยะไกลๆ
โดยส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดจากลักษณะทางพันธุกรรม หากมีบุคคลในครอบครัวประสบกับปัญหาสายตายาว ก็มีโอกาสที่คุณจะมีปัญหาสายตายาวด้วยเช่นเดียวกัน 
นอกจากนั้น เรื่องของสุขภาพก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่สามารถส่งผลให้เกิดปัญหาสายตายาวได้ เช่น โรคเบาหวาน การเป็นมะเร็งรอบดวงตา โรคตาเล็ก (Microphthalmia) เป็นต้น แต่สาเหตุนี้ มักพบได้ไม่มากนัก
 
อาการสายตายาวเป็นอย่างไร
อาการสายตายาวที่สามารถสังเกตเห็นได้ จะมีลักษณะดังนี้
  ปวดศีรษะ ปวดตา จำเป็นต้องหรี่ตา หรือตาล้าง่าย เนื่องจากต้องทำงานในระยะใกล้ๆ
  มองเห็นภาพซ้อน เพราะต้องเพ่งสายตาในการมองวัตถุอย่างหนัก
  ตามีความไวต่อแสงมากขึ้น ทำให้ตาสู้แสงไม่ได้ หรือเกิดอาการแสบตา
  มีความยากลำบากในการมองเห็นตอนกลางคืน
  ผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก อาจมีอาการตาเหล่ ตาเขร่วมด้วย เพราะต้องเพ่งสายตาตลอดเวลา
  ปัญหาสายตายาวในเด็ก อาจทำให้มีอาการขยี้ตาบ่อยครั้ง หรือมีปัญหาในการอ่านหนังสือได้
  มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การอ่านหนังสือ เย็บผ้า ขับรถยนต์ แต่งหน้า ทำอาหาร ฯลฯ
 
 
  สายตาเอียง (Astigmatism)
ภาวะสายตาเอียง(Astigmatism) ทำให้การมองเห็นผิดเพี้ยนไป การมองวัตถุในระยะใกล้และระยะไกลไม่ชัดเจน รวมไปจนถึงเรื่องอื่นๆที่ได้รับผลกระทบตามมา ซึ่งภาวะนี้อาจเป็นร่วมกับปัญหาสายตาสั้น และ สายตายาวได้อีกด้วย ปัญหาสายตาที่ทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้ มีการมองเห็นภาพเบลอทั้งในระยะใกล้และระยะไกล อีกทั้งยังเกิดเงาซ้อน ภาพบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง โดยส่วนใหญ่ ภาวะสายตาเอียงมักเกิดร่วมกันกับปัญหาสายตาสั้น หรือสายตายาว
ปัญหาสายตาเอียง ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมองเห็นตัวอักษร ตัวเลขต่างๆ การขับขี่รถยนต์ การอ่านหนังสือ รวมไปจนถึงเรื่องของบุคลิกภาพ เนื่องจากในบางรายอาจมีการเอียงคอ ขยี้ตา เพื่อช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น
 
สายตาเอียงเกิดจากสาเหตุใด
สายตาเอียงเกิดจากความผิดปกติของรูปร่างหรือความโค้งของกระจกตาที่ไม่โค้งเป็นทรงกลม ทำให้เมื่อแสงสะท้อนเข้าสู่ดวงตาของเรา เกิดการหักเหแสงผิดพลาด จนทำให้จุดโฟกัสที่ได้มีมากกว่าหนึ่งจุด และไม่ตกกระทบลงบนจอประสาทตา ส่งผลให้ภาพที่เห็นไม่ชัดเจนทั้งในระยะใกล้หรือระยะไกล และมีเงาซ้อนเกิดขึ้น

ในส่วนของภาวะสายตาเอียง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย โดยส่วนมากแล้วมักเป็นโดยกำเนิด แต่อาจมีบางรายที่เกิดขึ้นหลังจากประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นผลมาจากการเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงระดับเล็กน้อย อาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบหรืออาการต่างๆ แต่ผู้ที่มีภาวะสายตาเอียง ร่วมกับปัญหาสายตาสั้น หรือสายตายาว จะสามารถสังเกตเห็นอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน
 
สายตาเอียงอาการจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
  เกิดอาการตาล้า ปวดตา เมื่อต้องทำกิจกรรมบางอย่างที่มีการเพ่งสายตาหรือทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่น การอ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์
  มีอาการตาเหล่
  การมองเห็นพร่ามัว เบลอ ไม่ชัดเจน เกิดเงาซ้อน หรือภาพบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงในทุกระยะการมองเห็น
  เกิดอาการปวดหัว ระคายเคืองตา เนื่องจากการใช้สายตา หรือภาพการมองเห็น
  มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การขับรถยนต์ในตอนกลางคืน การอ่านป้ายจราจร การมองตัวเลข ตัวอักษร
 

  ต้อกระจก (Cataract)

ต้อกระจกเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการขุ่นของ  “เลนส์ตา” โดยปกติเลนส์ตาจะมีลักษณะใส ทำหน้าที่รวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตาทำให้เกิดการมองเห็นภาพ เมื่อเกิดต้อกระจก จอประสาทตาจะรับแสงได้ไม่เต็มที่  ทำให้การมองเห็นผิดปกติไป อาจมีสายตาพร่ามัวเหมือนมองผ่านกระจกฝ้า ยิ่งเลนส์ตาขุ่นมากขึ้น การมองเห็นจะลดน้อยลงตามลำดับ ภาวะต้อกระจกเป็นภาวะซึ่งเกิดจากความเสื่อมตามวัย จึงพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดต้อกระจก
1.  อายุที่มากขึ้น คือสาเหตุหลักของโรคต้อกระจก
2. การได้รับแสงอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดจัดเข้าตาเป็นเวลานานๆ
3. อุบัติเหตุที่ดวงตา ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง โดนของมีคม สารเคมี หรือสารรังสี
4. โรคตา หรือ โรคทางร่างกายบางโรค เช่น การติดเชื้อ โรคเบาหวาน
5. การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
6. กรรมพันธุ์ และความผิดปกติแต่กำเนิด การติดเชื้อและการอักเสบตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่ในหลายรายต้อกระจกอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด

อาการ
1.  ตามัวหรือมองเห็นไม่ชัดเจน ลักษณะคล้ายมีฝ้าหมอกบัง
2. มองเห็นภาพซ้อน หรือมีอาการสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนแว่นตาบ่อย มองเห็นระยะใกล้ได้ดีขึ้น
3. มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะเวลาขณะขับรถในตอนกลางคืน
4. สู้แสงสว่างไม่ได้
5. มองเห็นสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม
6. หากละเลยทิ้งไว้จนต้อกระจกสุกเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน การอักเสบภายในตา ซึ่งทำให้ เกิดอาการปวดตา ตาแดง และอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

การป้องกันและชะลอการเกิดต้อกระจก
หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะทำให้เกิดต้อกระจก เช่น
  ใส่แว่นกันแดดหรือกางร่มก่อนออกกลางแจ้ง
  รักษาและควบคุมโรคประจำตัวให้ดี เช่น เบาหวาน
  หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานานๆโดยไม่มีข้อบ่งชี้

ต้อกระจกเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจคัดกรองสายตาเป็นระยะ หรือเมื่อมีอาการที่สงสัยว่าอาจจะเป็นต้อกระจก แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป

 

  ต้อหิน (Glaucoma)

ต้อหิน (glaucoma) เป็นโรคตาซึ่งคนที่เป็นส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะในระยะแรกๆ พอทราบก็มักจะใกล้บอดแล้ว ที่อันตรายที่สุดคือ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตาจะบอดในที่สุด ไม่ช้าก็เร็ว ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในแต่ละบุคคลต้อหินเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคต้อ ตามที่คนเรียกกันโดยทั่วๆ ไป ที่พบบ่อยๆ มีต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อลม และต้อหิน แต่ต้อหินเป็นต้อเพียงชนิดที่ไม่มีตัวต้อให้เห็น เพราะต้อหินเป็นกลุ่มโรคที่มีการทำลายขั้วประสาทตา ซึ่งเป็นตัวนำกระแสการมองเห็นไปสู่สมอง ซึ่งเมื่อขั้วประสาทตาถูกทำลายจะมีผลทำให้สูญเสียลานสายตา เมื่อเป็นมากๆ ก็สูญเสียการมองเห็นในที่สุด ซึ่งเป็นการสูญเสียชนิดถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมามองเห็นได้

 

สาเหตุของโรคต้อหิน
ต้อหินเกิดจากการทำลายขั้วประสาทตา อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุปัจจัยภายนอก หรืออาจพบร่วมกับโรคทางตาอื่นๆ ที่แทรกซ้อนมาจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดรักษาโรคอื่นๆ ในดวงตา หรือแม้แต่เกี่ยวพันกับโรคทางกายอื่นๆ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในตัวบุคคลนั้นๆ ที่ทำให้เกิดการเสื่อมของขั้วประสาทตา ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดและเป็นปัจจัยอย่างเดียวที่ควบคุมเปลี่ยนแปลงได้ ก็คือ ความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากความเสื่อมข้างในลูกตา หรือเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากยาที่ใช้ จากอุบัติเหตุ หรือจากการผ่าตัด น้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตาโดยปกติลูกตาจะมีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงภายใน ซึ่งสร้างจากบริเวณด้านหลังของม่านตา แล้วไหลออกมาทางช่องด้านหน้า ก่อนที่จะระบายออกไปทางท่อระบายบริเวณมุมตา ในภาวะปกติปริมาณของน้ำหล่อเลี้ยงที่สร้างขึ้นจะสมดุลกับปริมาณที่ไหลออกจากลูกตา ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการคั่งค้างของน้ำภายในลูกตา ความดันภายในก็ปกติ แต่ถ้าหากมีการอุดตันบริเวณที่ท่อระบาย จะทำให้ความดันตาเพิ่มสูงขึ้นได้

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน
1. อายุ คนที่มีอายุมากจะมีโอกาสเป็นต้อหินมากกว่าคนที่มีอายุน้อย ต้อหิน บางชนิดเกิดในเด็กแรกเกิด หรือกลุ่มเด็กเล็กได้เช่นกัน แต่พบไม่บ่อยเท่าผู้สูงอายุ ต้อหินชนิดมุมเปิดพบมากในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
2. ความดันในลูกตา คนที่มีความดันในลูกตาสูงจะมีโอกาสเกิดโรคต้อหินได้มาก
3. ประวัติครอบครัว หากมีสมาชิกภายในครอบครัว หรือบรรพบุรุษเป็นต้อหิน ก็จะมีโอกาสเป็นต้อหินมากขึ้น และควรได้รับการตรวจเป็นระยะๆ
4. สายตาสั้นมากหรือยาวมาก พบว่าคนที่มีสายตาสั้นมากๆ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคต้อหินชนิดมุมเปิดมากกว่าคนปกติ และในคนที่สายตายาวมากๆ โดยมีขนาดของลูกตาเล็กกว่าปกติ ก็จะมีโอกาสเป็นต้อหินชนิดมุมปิด
5. โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และความผิดปกติทางเลือดและเส้นเลือด ปัจจุบันมีหลักฐานชี้บ่งว่าความเข้มข้นของเลือดที่ผิดปกติอาจสัมพันธ์กับโรคต้อหิน โรคของเส้นเลือดที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรคลูปัส ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติของเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงขั้วประสาทตา และทำให้เกิดเป็นโรคต้อหินได้
6. ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานานน
7. การได้รับอุบัติเหตุที่ลูกตามาก่อน และโรคตาบางชนิด

 

อาการโรคต้อหิน
โรคต้อหินส่วนใหญ่เป็นชนิดไม่มีอาการ การดำเนินของโรคจากเริ่มเป็น จนถึงการสูญเสียการมองเห็น ใช้เวลานานเป็นปีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้อหินที่เกิดจากความเสื่อม ซึ่งไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งสูญเสียการมองเห็น ซึ่งใช้เวลา 5 – 10 ปี จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับว่าจะตรวจพบต้อหินระยะใด เช่น พบตั้งแต่ระยะเพิ่งเริ่มเป็น จะสามารถคุมไว้ได้ และอาจจะไม่สูญเสีย  การมองเห็น แต่ถ้าตรวจพบต้อหินระยะที่เป็นมากแล้วหรือระยะท้ายๆ ก็อาจสูญเสียการมองเห็นได้ในเวลาอันรวดเร็วเช่นภายในเวลาเป็นเดือน ก็จะตาบอดได้

 

  โรคจอประสาทตาเสื่อมตามวัย

จอประสาทตา เป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่บุด้านในตาลักษณะเดียวกับเนื้อมะพร้าวในลูกมะพร้าว มีหน้าที่คล้ายฟิล์มกล้อง คือรับแสงและส่งสัญญาณไปที่สมอง เพื่อให้สามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน จุดที่สำคัญที่สุดที่มีผลต่อการมองเห็นที่คมชัด เรียกว่า จุดรับภาพ หากจุดรับภาพเสียหายหรือ จอประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะสูญเสียความคมชัดของการมองเห็น และทำให้การใช้ชีวิตประจำวันยากลำบากมาก เช่น อ่านหนังสือไม่ได้ ขับรถเองไม่ได้ หรือแยกแยะคนที่รู้จักไม่ได้เลย

ปัจจัยเสี่ยง จอประสาทตาเสื่อม
1.  ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
2. พันธุกรรม
3. การสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
4. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไขมันในเลือดสูง
5. การโดนแสงอัลตราไวโอเลตสะสมมาเป็นเวลานาน (ultraviolet, UV)

อาการของโรคจุดรับภาพเสื่อม
เมื่อจุดรับภาพเสื่อมสภาพลงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังนี้
1.  มองเห็นภาพเบลอ
2. เห็นภาพมีลักษณะบิดเบี้ยวผิดรูปไปจากเดิม เห็นสีเพี้ยนไป
4. ใช้แสงสว่างมากกว่าปกติเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น
5. มีจุดดำกลางภาพที่มองเห็น
6. สูญเสียความสามารถที่อาศัยความคมชัดของการมองเห็นไป เช่น จำแนกความแตกต่างของใบหน้าไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ได้ ขับรถไม่ได้

วิธีป้องกัน
1.  สวมใส่แว่นกันแดดเมื่ออยู่ในที่แสงจ้า
2. งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
3. งดการสูบบุหรี่
4. รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักคะน้า ข้าวโพด หรือถั่วลันเตา

 

  ภาวะตาแห้ง (Dry eye)

ตาแห้ง คือ อาการของดวงตาที่มีปริมาณน้ำตามาหล่อเลี้ยงให้เกิดความชุ่มชื้นกับดวงตาและเคลือบกระจกตาดำไม่เพียงพอ
ซึ่งพบในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย แต่จะพบบ่อยมากในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน
 
โดยปกติน้ำตาถูกสร้างจากต่อมน้ำตา 2 กลุ่ม ได้แก่
1. ต่อมน้ำตาที่เป็นเซลล์เล็ก ๆ ซึ่งฝังตัวอยู่บริเวณเยื่อเมือกที่คลุมตาขาวและด้านในของเปลือกตา
    มีหน้าที่ผลิตน้ำตาออกมาหล่อลื่นตาตลอดทั้งวันในภาวะปกติ เรียกว่า Basic Tear Secretion
2. ต่อมน้ำตาใหญ่ อยู่ใต้โพรงกระดูกเบ้าตาบริเวรหางคิ้วมีหน้าที่ผลิตน้ำตาออกมาเฉพาะเวลาที่มีอารมณ์ต่าง ๆ
    เช่น อาการเจ็บปวด ระคายเคืองตา ดีใจ เสียใจ เรียกว่า Reflex Tearing

สาเหตุของโรคตาแห้ง
  มักพบในผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้น ซึ่งการสร้างน้ำตาจะค่อย ๆ ลดลงเอง โดยเฉพาะในวัยหลังหมดประจำเดือน
    เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย และจะพบในผู้ป่วยที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome
    ซึ่งมีอาการตาแห้งร่วมกับข้ออักเสบและปากแห้ง 
  ยาบางชนิดอาจทำให้กระบวนการสร้างน้ำตาลดลง เช่น ยากลุ่มแอนตี้ฮิสตามีน ใช้รักษาหวัดและภูมิแพ้
    ยากล่อมประสาท ยาทางจิตเวช ยาลดความดันโลหิตสูงในกลุ่มที่ออกฤทธิ์โดยการขับปัสสาวะ เป็นต้น
    หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาสามารถใช้ต่อไปได้ แต่ต้องรักษาอาการตาแห้งร่วมไปด้วย 
  ผู้ป่วยที่มีเยื่อบุตาอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อ หรือจากการแพ้ยาที่เรียกว่า Stevens-Johnson Syndrome
    การอักเสบที่รุนแรงและเรื้อรัง อาจไปทำลายต่อมสร้างน้ำตาเล็ก ๆ ที่เยื่อบุตาขาว
    ทำให้ผู้ป่วยเกิดตาแห้งชนิดรุนแรงได้
●  การใช้คอนแทคเลนส์ทำให้ตาแห้งได้ เนื่องจาก คอนแทคเลนส์จะดึงน้ำที่ตาเพื่อทำให้ตัวคอนแทคเลนส์เอง
    สามารถคงความใสอยู่ได้
  การใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรศัพท์  คอมพิวเตอร์  โทรศัพท์มือถือ (สมาร์ทโฟน)
    แท็บเล็ต เป็นต้น 
●  การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ หลับไม่สนิท ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ส่งผลให้การสร้างน้ำตาลดลงได้ 
●  สิ่งแวดล้อมมีผลทำให้ตาแห้งได้ เช่น เจอสภาพอากาศแห้ง มีความชื่นในอากาศน้อย,
    อยู่ในห้องแอร์มีอุณหภูมิเย็นแห้ง, ปะทะลมหรือแสงแดดเป็นประจำ เป็นต้น จะทำให้น้ำตาระเหยได้ง่าย

อาการของโรคตาแห้ง
ตาจะรู้สึกฝืด เคือง ระคาย คล้ายมีเศษผงเข้าตา แสบร้อน บางรายมีขี้ตาเป็นเมือกเหนียวยืดเป็นเส้น เพราะน้ำตามีส่วนประกอบของน้ำเมือกและน้ำมัน เมื่อโดนแดดและลม น้ำจะถูกระเหยไป จึงทำให้เมือกข้นมากขึ้น ผู้ป่วยจึงมีขี้ตาซึ่งมีลักษณะเป็นเมือกสีขาว หรือสีเหลืองนวลมากกว่าปกติ ผู้ปวยที่ใส่คอนแทคเลนส์อยู่ ถ้ามีอาการตาแห้ง จะทำให้ระคายเคืองเพิ่มมากขึ้น
 
บางครั้งผู้ป่วยจะมีอาการน้ำตาไหล สาเหตุเนื่องจากน้ำตาปกติลดน้อยลง มีอาการระคายเคือง ทำให้ต่อมน้ำตาใหญ่ (Reflex Tear) บีบน้ำตาออกมามากจนไหลล้น เมื่ออาการแสบตาลดลงน้ำตาก็จะหยุดไหล จนน้ำตาเริ่มแห้งถึงระดับที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาอีก น้ำตาก็จะไหลออกมามาก สลับกันไปเช่นนี้เป็นระยะ 

วิธีการดูแลรักษาโรคตาแห้ง
มีหลายวิธีที่สามารถปฏิบัติด้วยตัวเองได้ง่ายๆ รวมถึงการพบจักษุแพทย์เป็นประจำ
1. ลดการระเหยของน้ำตาให้น้อยลง
    ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดี คือหลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับแสงแดด
    และลม สวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง ไม่นั่งในที่ที่มีลมพัดหรือลมแอร์เป่าใส่ดวงตา

2. กะพริบตาถี่ ๆ
    ในภาวะปกติคนเราจะกระพริบตานาทีละ  20-22 ครั้ง ทุกครั้งที่กระพริบตา เปลือกตาจะรีดผิว
    น้ำตาให้มาฉาบผิวกระจกตา แต่ถ้าในขณะที่จ้องหรือเพ่ง ตาจะลืมค้างไว้นานกว่าปกติ ทำให้กระพริบตา
    เพียง 8-10 ครั้ง น้ำตาก็จะระเหยออกไปมาก ทำให้ตาแห้งเพิ่มขึ้น จึงควรพักสายตาโดยการหลับตา
    กระพริบตา ทุก ๆ 10 - 15 นาที หรือลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ ประมาณ  2-3 นาที ในทุกครึ่งชั่วโมง

3. ใช้กรอบแว่นตาชนิดพิเศษ
     สำหรับผู้ที่ตาแห้งมาก อาจใช้กรอบแว่นชนิดพิเศษที่มีแผ่นคลุมปิดกันลมด้านข้าง
     ของแว่นตา แว่นชนิดนี้จะช่วยครอบทั้งดวงตาและป้องกันลม หรือจะใช้แผ่นซิลิโคนชนิดพิเศษที่มีลักษณะบางใส
     และนุ่ม นำมาตัดให้เข้ารูปและติดเข้ากับด้านข้างของกรอบแว่นตาคู่เดิม ซึ่งเรียกว่า Moist Chamber

4. ใส่คอนแทคเลนส์ให้น้อยลง
    หากพบว่าตาแห้งมากควรงดใส่คอนแทคเลนส์

5. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
    เพื่อให้ร่างการสามารถผลิตน้ำตาได้เต็มที่

6. ใช้น้ำตาเทียม
    ● น้ำตาเทียมคือยาหยอดตาที่ใช้เพื่อหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นกับผู้ที่ตาแห้ง
    น้ำตาเทียม มี 2 ชนิด คือ
    ●  น้ำตาเทียมชนิดน้ำ เหมาะที่จะใช้ในเวลากลางวัน เพราะไม่เหนียวเหนอะหนะและ
        ไม่ทำให้ตามัวแต่ต้องหยอดตาบ่อย
    ●  น้ำตาเทียมชนิดเจลและขี้ผึ้ง มีลักษณะเหนียวหนืด หล่อลื่นและคงความชุ่มชื้นได้นานกว่าชนิดน้ำ
        แต่จะทำให้ตามัวชั่วขณะหลังป้ายยา จึงควรใช้ป้ายตาแต่น้อยและควรใช้ก่อนเข้านอน
        การรักษาด้วยวิธีใช้น้ำตาเทียม เวลาในการหยอดตาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการตาแห้ง
        หากวันใดไม่ถูกแสงแดดหรือลม และรู้สึกสบายตาก็ไม่จำเป็นต้องหยอด แต่ถ้ารู้สึกเคืองตามาก
        ก็สามารถหยอดบ่อย ๆ ได้ตามต้องการ
7. อุดรูระบายน้ำตา
    สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งอย่างรุนแรง จักษุแพทย์จะใช้วิธีอุดรูระบายน้ำตาเพื่อขังน้ำตาที่มีอยู่ให้
    หล่อเลี้ยงตาอยู่ได้นาน ๆ ไม่ปล่อยให้ไหลทิ้งไปเหมือนกับการสร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้
    การอุดรูระบายน้ำตา มี 2 แบบ คือ แบบชั่วคราว และแบบถาวร สำหรับการอุดแบบชั่วคราวจักษุแพทย์จะ
    สอดคอลลาเจนขนาดเล็กเข้าไปในรูท่อน้ำตา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตาขึ้น โดยคอลลาเจน
    จะสลายไปเอง ภายใน 3 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำตาแห้งมาก จักษุแพทย์จะอุดรูระบายน้ำตาแบบถาวรให้ ทั้งนี้ จะใช้แบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ข้อควรระวังในการใช้น้ำตาเทียม
ผู้ป่วยที่ตาแห้งน้อย หยอดตาไม่เกินวันละ 4-5 ครั้ง สามารถใช้ยาหยอดตาชนิดขวดที่มีสารกันบูดได้ แต่กรณีผู้ป่วยที่ตาแห้งมาก และหยอดตามากกว่าวันละ 6 ครั้ง จักษุแพทย์จะสั่งน้ำตาเทียมชนิดพิเศษที่ไม่มีสารกันบูด (Preservative-Free Tear) ให้ใช้แทน ซึ่งมีข้อจำกัดก็คือ ยาจะบรรจุในหลอดเล็กเมื่อเปิดใช้แล้วต้องใช้ให้หมดภายใน 12 - 16 ชั่วโมง หากใช้นานกว่านี้อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้


  ตาเหลือง 

ตาเหลือง อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น บางอวัยวะในร่างกายทำงานผิดปกติไม่ว่าจะเป็น ตับ ตับอ่อน ถุงน้ำดี ฯลฯ ที่มีอาการส่งผลให้ตาขาวมีสีเหลือง เยื่อตามีสีที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ขาวใสตามปกติ ซึ่งหากใครที่มีอาการตาเหลืองควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา และวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย 

ตาเหลือง อาจเกิดจากโรคตับอักเสบ หรือ ดีซ่าน อาการตาเหลืองเกิดจากการรวมตัวกันของสารบิลิรูบิน (Bilirubin) สารสีเหลืองที่มีอยู่ในน้ำดี ซึ่งเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับตับ ผู้ป่วยจะมีสารบิลิรูบินในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งทำให้เยื่อตาเป็นสีเหลือง อาการตาเหลืองนี้ส่อโรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง ทำตาขาวมีลักษณะเป็นสีเหลืองทั่วดวงตาทั้งสองข้าง


สาเหตุที่ทำให้ ตาเหลือง

ตาเหลืองอาจเกิดจากการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายผิดปกติไปจากเดิม ทำให้เกิดเป็นโรคต่าง ๆ ซึ่ง ได้แก่
1. ตับ
เป็นอาการที่เกิดจากตับขับน้ำดีไม่สะดวก หรือ ไม่ทัน ทำให้มีการคั่งของน้ำดีในร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดความผิดปกติซึ่งอาจส่งผลให้เกิดเป็นโรคต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับร่างกาย เช่น
  โรคตับแข็ง
  มะเร็งตับ
  การติดเชื้อในตับ
  โรคตับอักเสบบี และซี

2. ถุงน้ำดี
ประกอบไปด้วยน้ำดีจากตับ ที่ช่วยให้ร่างกายสามารถย่อยไขมัน และเชื่อมต่อกับตับผ่านทางท่อน้ำดี ภาวะต่าง ๆ เช่น นิ่ว ซีสต์ และเนื้องอก ให้สามารถปิดกั้นท่อน้ำดีได้ ดังนั้น เมื่อท่อน้ำดีไม่สามารถลำเลียงน้ำดีได้จะเกิดการสะสมตัวมากขึ้น ส่งผลให้มีอาการตาเหลือง

3. ตับอ่อน
อวัยวะที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน และเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหาร นอกจากท่อน้ำดีแล้ว ท่อจากตับอ่อนยังเป็นท่อที่นำไปสู่ลำไส้เล็ก ดังนั้น หากมีการติดเชื้อ หรือ มีสิ่งกีดขวาง การสะสมของบิลิรูบินอาจทำให้เกิดอาการ ตาเหลือง ได้เช่นเดียวกัน

4. ความผิดปกติของเลือด
เลือดที่ไหลเวียนอยู่ภายในร่างกาย อาจเกิดความผิดปกติจากระบบการทำงานของเลือด และอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรค เช่น โรคโลหิตจาง หรือ โรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก เป็นต้น


อาการแบบไหนควรรีบไปพบแพทย์

หากพบว่าดวงตามีลักษณะของสีตาขาวที่เปลี่ยนแปลงไปจากสีขาว เป็นสีเหลือง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และตรวจหาสาเหตุให้สามารถได้รับการรักษาที่ถูกวิธี โดยหากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยด่วนเพราะอาจมีอันตรายถึงชีวิต

  สูญเสียความอยากอาหาร
  เลือดออกจมูก
  คันผิวหนัง
  รู้สึกอ่อนแอ หรือ เหนื่อยล้าเป็นประจำ
  น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
  ขา หรือ ท้องมีอาการบวม
  ปัสสาวะเหลืองเข้มกว่าปกติ
  อุจจาระสีซีด
  ปวดข้อ หรือ กล้ามเนื้อมีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม
  สีผิวคล้ำขึ้น หรือ มีการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองร่วมด้วยกับอาการตาเหลือง

  โรคตาแดง Pink eye (Conjunctivitis)

โรคตาแดง เป็นโรคติดเชื้อที่เยื่อบุตาซึ่งเป็นเยื่อเมือกใสคลุมผิวลูกตาและด้านในของเปลือกตา เมื่อเยื่อบุตาติดเชื้อ หลอดเลือดจะขยายตัวชัดขึ้น ทำให้ดวงตามีสีชมพูหรือออกแดง

สาเหตุทั่วไปที่ทำให้เกิดโรคตาแดง คือ การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย อาการภูมิแพ้ และท่อน้ำตาอุดตันในทารกแรกเกิด

เมื่อเป็นโรคตาแดง ผู้ป่วยมักมีอาการระคายเคืองที่ดวงตา แต่มักไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น อาการระคายเคืองจะดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษา โรคตาแดงบางชนิดเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย การได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้

 

อาการของโรคตาแดง
  ดวงตาแดง ระคายเคือง
  รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา มีขี้ตา ตาแฉะ
  น้ำตาไหล

 

โรคตาแดงเกิดจากอะไร?
โรคตาแดงอาจเกิดจากสาเหตุดังนี้
1.  การติดเชื้อไวรัส
2. การติดเชื้อแบคทีเรีย
3. โรคภูมิแพ้
4. สารเคมีเข้าตา
5. สิ่งแปลกปลอมเข้าตา
6. ท่อน้ำตาอุดตันในเด็กแรกเกิด

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นตาแดง
1.  สัมผัสสารที่ก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดภูมิแพ้เยื่อบุตา
2. สัมผัสผู้ป่วยโรคตาแดงจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
3. สวมใส่คอนแทคเลนส์ โดยเฉพาะเลนส์ชนิดที่ใส่ข้ามคืน

 

ภาวะแทรกซ้อน
โรคตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบเป็นสาเหตุของภาวะกระจกตาอักเสบซึ่งมีผลต่อการมองเห็นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้  ดังนั้นเมื่อมีอาการเจ็บตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา ตามัวมองไม่ชัด ตาไม่สู้แสง ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาทันที เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

การป้องกันโรคตาแดง
1.  เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตนตามสุขลักษณะที่ดี ดังต่อไปนี้
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา
3. ล้างมือสม่ำเสมอ
4. ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดตัวที่สะอาดเท่านั้น
5. ไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
6. ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทางดวงตาร่วมกับผู้อื่น
7. ทิ้งเครื่องสำอางที่ใช้กับดวงตาที่มีหรือกำลังใช้อยู่
8. เปลี่ยนปลอกหมอนบ่อย ๆ
9. โรคตาแดงติดต่อได้ง่ายแหมือนโรคหวัด หากสามารถปฏิบัติตัวตามสุขลักษณะที่ดีได้ ผู้ป่วยอาจสามารถกลับไปทำงานหรือไปโรงเรียน ในกรณีที่ไม่สามารถลาหยุดได้

 

การรักษาโรคตาแดง
การรักษาโรคตาแดงโดยมากเป็นการบรรเทาอาการ ซึ่งได้แก่ การใช้ยาหยอดตา การทำความสะอาดเปลือกตาด้วยผ้าเปียก หรือการใช้ผ้าประคบร้อนหรือเย็น
ควรหยุดใช้คอนแทคเลนส์จนกว่าจะหาย แพทย์อาจแนะนำให้ทิ้งคอนแทคเลนส์แบบใช้แล้วทิ้งที่ผู้ป่วยมีอยู่

หากใส่คอนแทคเลนส์ชนิดใส่ระยะยาว ควรทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ชนิดใส่ระยะยาวก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ และควรปรึกษาแพทย์ว่าควรเปลี่ยนกล่องใส่คอนแทคเลนส์ที่ใช้ก่อนหรือระหว่างที่เป็นโรคตาแดงหรือไม่  รวมถึงควรหยุดใช้และทิ้งเครื่องสำอางที่ใช้กับดวงตาก่อนเกิดอาการ

โดยทั่วไปยาหยอดตาฆ่าเชื้อปฏิชีวนะนั้นไม่จำเป็น เนื่องจากอาการตาแดงมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส  การใช้ยาฆ่าเชื้อปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นอาจทำให้เกิดการแพ้ยาหรือเชื้อดื้อยาได้  การติดเชื้อไวรัสมักหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ โดยอาการมักเริ่มจากดวงตาเพียงข้างเดียว จากนั้นอีก 2-3 วันก็อาจลามไปติดอีกข้าง แต่ในท้ายที่สุดก็จะหายได้เอง
ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคตาแดงจากเชื้อไวรัสอันมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสโรคเริมอาจต้องใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาร่วมด้วย

 

  วิธีดูแลรักษาและป้องกันโรคทางตา
1.  ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ : ควรตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคตา เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่ใช้สายตาหนัก
2. ดูแลรักษาความสะอาดของดวงตา : ล้างมือให้บ่อย หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา ไม่ขยี้ตา และล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด
3. พักสายตา : พักสายตาจากการใช้หน้าจอเป็นระยะ ประมาณ 20 นาที ทุกๆ 2 ชั่วโมง
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ : ทานอาหารที่มีวิตามินเอ ซี อี และลูทีน ซึ่งดีต่อสุขภาพตา
5. สวมแว่นกันแดด : ปกป้องดวงตาจากรังสียูวี ซึ่งอาจทำลายจอประสาทตา
6. เลิกสูบบุหรี่ : บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคตาหลายชนิด
7. ควบคุมโรคประจำตัว : ควบคุมโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพตา

 

  สรูป
โรคทางตาเป็นปัญหาที่พบบ่อย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การดูแลรักษาและป้องกันโรคทางตาสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ ดูแลรักษาความสะอาดของดวงตา พักสายตา รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สวมแว่นกันแดด เลิกสูบบุหรี่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้